วันจันทร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558

Population

In 2050 ?


                   
     เมื่อพิจารณาข้อมูลจากเอกสาร World Urbanization Prospects ประจำปี 2014 ที่จัดทำขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ ได้ระบุไว้ว่า ปัจจุบันประชากรโลกอาศัยอยู่ในเขตเมืองมากกว่าเขตชนบท โดยในปี 2007 คือปีแรกในประวัติศาสตร์ที่ประชาชนคนเมืองมีจำนวนมากกว่าประชากรชนบท โดยตลอดระยะเวลากว่า 6 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้เกิดการพัฒนาเข้าสู่ความเป็นเมืองอย่างรวดเร็วและยังคงมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต ทั้งนี้ในปี 2050 มีการคาดการณ์ไว้ว่า จำนวนประชากรที่อาศัยในเมืองจะมีมากขึ้นถึงร้อยละ 66 ของประชากรโลกทั้งหมด ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบัน คือ ร้อยละ 54

ทั้งนี้ ระดับความเป็นเมืองของพื้นที่ต่างๆ ในโลกยังคงมีความแตกต่างกันอย่างมาก เพราะเมื่อพิจารณาสัดส่วนของความเป็นเมืองระหว่างยุโรป เอเชีย และแอฟริกา จะพบว่า ในปัจจุบัน ยุโรปมีประชากรทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองกว่าร้อยละ 73 ซึ่งแตกต่างจากเอเชียและแอฟริกาที่ประชาชนอาศัยอยู่ในเขตเมืองคิดเป็นร้อยละ 48 และร้อยละ 40 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงอัตราการพัฒนาเพื่อเข้าสู่ความเป็นเมืองจะพบว่าภูมิภาคเอเชียและแอฟริกามีแนวโน้มเติบโตในอัตราสูงที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นในปี 2050 คือ ร้อยละ 64 และร้อยละ 56 ตามลำดับ ซึ่งแตกต่างจากยุโรปที่มีอัตราความเป็นเมืองเพิ่มขึ้นเพียงประมาณร้อยละ 7 เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีระดับความเป็นเมืองที่สูงอยู่แล้ว

เมื่อพิจารณาในเชิงภาพรวมของโลกในปี 2050 ประเทศที่มีรายได้สูง (High Income Country) จะมีระดับความเป็นเมืองเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6 คือ จากร้อยละ 80 เป็นร้อยละ 86 ซึ่งต่างจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับบน (Upper- Middle Income Country) เช่น จีน บราซิล อิหร่าน และเม็กซิโก เป็นต้น ที่จะมีอัตราความเป็นเมืองเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 16 คือจากร้อยละ 63 ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 79 ในปี 2050

ทั้งนี้ สำหรับประเทศที่มีรายได้น้อย (Low Income Country) และปานกลางระดับล่าง (Lower Middle Income Country) จะเป็นกลุ่มประเทศที่มีระดับการเติบโตด้านความเป็นเมืองที่สูงที่สุด ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันจากร้อยละ 30 และร้อยละ 39 เป็นร้อยละ 48 และ ร้อยละ 57 ตามลำดับ และในช่วงระหว่าง ปี 2014 จนถึงปี 2050 ประชากรในเขตชนบทจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นใน 1 ใน 3 ของประเทศทั่วโลก โดยประเทศที่มีแนวโน้มประชากรในชนบทเพิ่มสูงสุด คือ ประเทศไนจีเรีย (50 ล้านคน) และกว่า 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกจำนวนประชากรในเขตชนบทมีแนวโน้มลดลง โดยจีนจะเป็นประเทศที่จำนวนประชากรในชนบทลดลงสูงสุด (300 ล้านคน) และ อินเดีย (52 ล้านคน) ตามลำดับ

หากพิจารณาประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการคาดประมาณจำนวนประชากรภายในประเทศ พบว่า ในปี พ.ศ. 2556 มีประชากรอาศัยอยู่ในเขตเมืองร้อยละ 45.90 ซึ่งแตกต่างจาก ประชากรเขตเมืองปี พ.ศ. 2554 ที่มีอัตราส่วนเพียงร้อยละ 36.12 ของประชากรทั้งประเทศ

และในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับบน (Upper- Middle Income Country) ที่มีแนวโน้มพัฒนาสู่ความเป็นเมืองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาเพื่อเข้าสู่สังคมเมืองที่มากยิ่งขึ้นส่งผลด้านดี เช่น การทำธุรกิจค้าขายเป็นไปสะดวกสบายมากขึ้น จากการที่คนอยู่กันอย่างหนาแน่น การขนส่งสินค้ามีต้นทุนต่ำ นอกจากนี้ยังมีผลทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างบุคคลมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การพัฒนาความเป็นเมืองมากขึ้นอาจทำให้เกิดการย้ายถิ่นฐานของประชากรอันส่งผลทำให้ปัญหาต่างๆ ในสังคมเมืองทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นด้วย เช่น ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัย ปัญหาความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและรายได้ ปัญหาการบริการจากภาครัฐที่ไม่ทั่วถึง หรืออาจจะเป็นปัญหาจากการอพยพเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าว เป็นต้น


จากผลกระทบทางด้านบวกและด้านลบดังกล่าว ประเทศควรมีการเตรียมพร้อม มีการกำหนดนโยบายในการใช้ประโยชน์จากความเป็นเมืองที่มากขึ้น และนโยบายในการรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากความเป็นเมืองที่เพิ่มสูงขึ้นภายใน ต้องมีการคำนึงว่าจะจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดอย่างไร เพื่อให้ประชาชนสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ มีความเหลื่อมล้ำในระดับที่ต่ำ มีระบบการศึกษา มีระบบคมนาคมขนส่งที่มีคุณภาพ มีระบบสาธารณสุขที่เพียงพอต่อความต้องการของคนในเมือง   


                 
              เมื่อดูจากการคาดการณ์จำนวนประชากรโลกปี 2050 พบว่า จำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้น 38% จาก 6.9 พันล้านคน เป็น 9.6 พันล้านคน โดยประชากรจะมีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้นอย่างน้อย 9 ปี ประชากรอายุ 15-64 ปีจะเพิ่มขึ้น 33% ในขณะที่ประชากรอายุมากกว่า 65 ปีคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 181% ดังนั้น หากพิจารณาแนวโน้มดังกล่าวประกอบกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องอันเนื่องมาจากหลากหลายปัจจัย จะเห็นได้ว่าการตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงด้านทรัพยากรธรรมชาติที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันได้แก่ อาหาร น้ำ และพลังงาน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านทรัพยากรมนุษย์วัยแรงงาน จึงเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญ




                                                                      1. อาหาร

              จากการคาดการณ์ปริมาณการผลิตพืชหลัก อาทิ ข้าวโพด ข้าว ข้าวสาลี และถั่วเหลือง ซึ่งมีแนวโน้มจะขยายตัวเพียง 38-67% เท่านั้นในปี 2050 เป็นสัญญาณเตือนภัยที่สำคัญสำหรับโลกในการรับมือกับสภาวะการขาดแคลนอาหารที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะเมื่อดูจากการคาดการณ์ความต้องการด้านอาหารในปี 2050 ที่กำลังจะมาถึง พบว่า ผลผลิตทางการเกษตรจำเป็นต้องขยายตัวสูงถึง 60-110% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าอัตราการขยายตัวของปริมาณผลผลิตที่โลกสามารถผลิตได้
         ทั้งนี้สำหรับทวีปที่คาดว่าจะต้องการอาหารมากที่สุดคือทวีปแอฟริกา ทวีปที่ประชากรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 814 ล้านคน และมีความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นถึง 300% ดังนั้น เป็นที่ทราบดีว่า หากประชากรโลกมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ และการขยายตัวด้านอาหารไม่สามารถขยายตัวเพิ่มมากขึ้นได้ ความไม่มั่นคงทางอาหาร (food insecurity) จะเกิดขึ้นอย่างมากมายและรุนแรงมากกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบันในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีฐานะยากจนในแถบทวีปแอฟริกา เป็นต้น



                                                                                2.น้ำ
               จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นทำให้ความต้องการน้ำเพิ่มขึ้น 400% ในภาคการผลิต 140% สำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้าและพลังงานความร้อน และ 130% สำหรับการใช้ตามครัวเรือน ทำให้อุปสงค์น้ำทั้งโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นกว่า 55% ของอุปสงค์น้ำ ณ ปัจจุบัน ทั้งนี้จากสภาวะขาดแคลนทรัพยากรน้ำส่งผลให้ประชากรกว่า 1.4 พันล้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคแอฟริกาใต้ซาฮาร่า (Sub-Sahara Africa) จะยังคงไม่สามารถได้รับสุขอนามัยขั้นพื้นฐานที่ดี อันเนื่องมาจากปัจจัยเรื่องทรัพยากรน้ำ

3. พลังงาน
                  ผลจากการเพิ่มจำนวนประชากร และการขยายตัวทางเศรษฐกิจทำให้ความต้องการพลังงานในปี 2050 มีแนวโน้มขยายตัวตามไปด้วย ทั้งนี้เมื่อดูจากการประมาณของ International Energy Agency พบว่า ความต้องการพลังงานของโลกจะเพิ่มขึ้นกว่า 50% จากปี 2010 การใช้พลังงานประเภทฟอสซิลจะลดลง และสามารถตอบสนองความต้องการเบื้องต้นได้เพียง 80% ของความต้องการพลังงานทั้งหมด


4. ทรัพยากรมนุษย์
               การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรมีผลต่อมิติแรงงาน ทั้งนี้กำลังแรงงานในหลายประเทศซึ่งหดตัวลง อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมัน มีสาเหตุหลักมาจากประชากรกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยมีอัตราการเกิดและอัตราการตายที่ลดลง แตกต่างจากบางประเทศ อาทิ อินเดีย และประเทศในทวีปแอฟริกา ที่มีแนวโน้มการขยายตัวของแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น ปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรโลกดังกล่าวส่งผลทำให้การแข่งขันเพื่อดึงดูดบุคลากรเข้ามาทำงานในประเทศของตนเป็นไปอย่างดุเดือดมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะแรงงานคุณภาพและทรัพยากรวัยแรงงานจะมีจำนวนจำกัดมากขึ้น ดังนั้นเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน บริษัทต่างๆจึงมีความจำเป็นต้องปรับตัวและวางนโยบายให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว


ที่มา : http://www.kriengsak.com/global-trends-2050
               ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
           นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น